วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อ้างอิง

อ้างอิง
www.xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com                       สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.prapayneethai.com                                                สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.personal.swu.ac.th                                                 สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.blog.eduzones.com                                               สืบค้นเมื่อวันที่    18  มิถุนายน พ.ศ.2556

ประเพณีชักพระ

ประเพณีชักพระ


          “ด้วยจิตอันศรัทธายิ่งต่องานประเพณี เมื่อถึงวันชักพระ ชาวบ้านต่างร่วมกันทำบุญตักบาตร อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกบนเรือพระ รถพระ ซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม จากนั้นจึงออกแรงชักพระ เรือพระ ออกจากวัด สมโภชไปตามถนน ลำคลอง ผู้คนหนาตาด้วยจิตศรัทธาเป็นหนึ่งเดียวกัน
ตระเตรียม สลักเสลา ประดับประดิษฐ์ รถ เรือพนมพระ งดงามเมลืองมลัง ด้วยมวลหมู่ดอกไม้ ด้วยจิต ด้วยศรัทธา สมความยิ่งใหญ่ในประเพณีอันนับถือสู่สิริมงคล นับร้อย นับพัน ร่วมแรง ร่วมใจ แข็งขัน สามัคคี คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ ออกเรี่ยว ออกแรง เฮโล เฮลา ถึงวันเรามาชักพระร่วมกัน
นับนานแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดากลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จ เกิดเป็นประเพณีตักบาตรเทโว แถบถิ่นปักษ์ใต้ยังมีประเพณีชักพระควบคู่ด้วยกัน ปฏิบัติสืบมาช้านาน สุราษฏร์ธานีแต่ละปีจัดงานชักพระยิ่งใหญ่ ถึงแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดออกพรรษาแล้ว ผู้คนเนืองแน่น คนจากไปอยู่ถิ่นไกลกลับบ้านร่วมงานบุญถิ่นฐานบ้านเกิด ด้วยปลูกวิถีแห่งประเพณีประดับจิตไว้แต่เล็กแต่อ่อน ช่วยกันตกแต่งทำรถ เรือพนมพระ งดงาม อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก บนเรือพระ รถพระ เตรียมอาหารคาวหวาน ขนมต้ม ทำบุญตักบาตร แล้วชักรถ เรือพระออกจากวัด สมโภชตามถนน ลำคลอง เสียงโพนนำขบวน ครึกครื้น สนุกสนาน รื่นเริง วัดนับร้อยเข้าร่วมพิธี วันเดียวจึงเปรียบทำบุญได้ร้อยวัด


หลายบ้าน หลายเรือน จัดพุ่มผ้าป่า จัดไฟประดับสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธชาดก เรื่องของนรก สวรรค์ พานพุ่มเตรียมผ้าผืนน้อยไว้สำหรับพระภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล ปิ่นโตหนึ่งเถา บรรจุอาหารปรุงรสด้วยจิตเต็มเปี่ยมแห่งศรัทธา เรียกพุ่มผ้าป่านี้ว่า ผ้าป่าข้าวสุก
นอกนั้นผละจากพิธีรีตองตามขนบธรรมเนียมถือปฏิบัติ ยังมีงานรื่นเริงแข่งขันเรือยาวแห่งลุ่มน้ำตาปี ในฤดูน้ำปริ่มตลิ่ง ต่างคน ต่างเชียร์ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง เป็นเช่นนี้ในทุกๆ ปี เป็นที่น่ายินดีที่ท้องถิ่นจะอนุรักษ์ปฏิบัติสืบต่อไป
        – วันเวลาการจัดงาน : เทศกาลออกพรรษาของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

        – สถานที่จัดงาน : บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี สะพานนริศ ต.ตลาด อ.เมือง, สนามข้างโรงแรมวังใต้ อ.เมือง

ประเพณีทอดกฐิน

ประเพณีทอดกฐิน



          ประเพณีทอดกฐินจะทำในช่วงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน เกี๋ยงเหนือหรือเดือนตุลาคม ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่เหนือ หรือเดือนพฤศจิกายน สมัยโบราณชาวล้านนาไม่นิยมทอดกฐินเนื่องจากว่าจะต้องใช้ปัจจัย (เงิน) ค่อนข้างมาก ผู้ที่จะถวายกฐินได้จะต้องมีฐานะดีและมีความตั้งใจจริง

เมื่อผู้ใดมีความประสงค์จะถวายกฐิน จะต้องจองกฐินที่วัด และบอกแก่ชาวบ้านให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อถึงวันทอดกฐินก็จะมีการแห่กฐินมาทอดที่วัด และในบางวัดจะมีมหรสพในตอนกลางคืนด้วย

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล


          “ฤดูแห่งลมว่าวพัดมาถึงอีกครั้ง ท้องฟ้าจึงถูกประดับประดาด้วยว่าวนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือว่าวควาย ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสู่เอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของว่าวเมืองสตูล ประชันความงามล่องเวหาไปพร้อมๆ กันกับว่าวนานาชาติ เพียงเงยหน้ามองท้องฟ้าจนสุดสายป่าน คุณก็ไม่อาจละสายตา และเพลิดเพลินไปกับงานแข่งขันว่าวประเพณี ณ จังหวัดสตูล
ต้นข้าวขณะออกรวงเรียว ผ่านพ้นช่วงฝนตกหนักสู้ฤดูหนาวต้นปี รวงข้างเอนกระทบกันเสียงกระซิบของท้องทุ่ง ตามด้วยสายลมที่พัดผ่านมาเป็นสัญญาณเปลี่ยนฤดูกาล ขณะรอเก็บเกี่ยวผลผลิต เหล่านักประดิษฐ์ต่างนำว่าวตัวเก่งมาล่องลม ในช่วงเวลาดังกล่าวของทุกปีท้องฟ้าเมืองสตูลจึงเต็มไปด้วยว่าวหลากชนิดที่บรรดาเด็กๆ คนหนุ่มสาว ต่างออกลีลาวาดลวดลายประชันฝีมือในการบังคับว่าวอย่างรื่นเริง
การเรียนรู้อยู่ร่วมกันตามวิถีของธรรมชาติ ทำให้การนำว่าวมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความบันเทิงพัฒนารูปแบบเรื่อยมา ทั้งในประเทศไทยรวมทั้งว่าวจากนานาชาติ จนเริ่มมีการแข่งขัน คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างภูมิประเทศ จึงมีโอกาสพบเห็นว่าวรูปทรงแปลกและแตกต่างกัน นั่นรวมถึงว่าวควายที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของสตูล

ลักษณะของว่าวควาย ช่วงล่างเป็นรูปทรงเขาโง้ง ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร นิยมใช้สีขาวเป็นตัวว่าว อาจแต่งแต้มสีบ้างเล็กน้อย มีแอกรับลมเกิดเป็นเสียงขณะล่องลม ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกที่แปลกตา ประกอบกับเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อติดลมบน ได้กลายเป็นมนต์เสน่ห์ ที่สามารถนำกฎทางธรรมชาติมาผสานกับแนวคิดของคน และกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่ไม่ว่าใครก็ต่างสนใจ
ประเพณีการแข่งขันว่าว แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ใครบังคับได้ขึ้นสูงก็รับรางวัลประเภทขึ้นสูง ใครเสียงดังกังวานก็ต้องมอบรางวัลชนะเลิศประเภทเสียงกังวาน แต่หากมีพรสวรรค์ด้านศิลปะก็ตกแต่งว่าวมาอย่างครบเครื่องในประเภทสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากมีการจัดแข่งขันว่าวในประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการแข่งขันการประดิษฐ์ว่าว ประกวดธิดาว่าว จัดแสดงโชว์ว่าวสตันไทย และว่าวต่างประเทศ มีซุ้มนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของว่าว พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของสตูล การแสดงดนตรีสด ร่วมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นำสินค้าต่างๆ มาออกร้านมากมาย จนทำให้บรรยากาศภายในงานจึงเต็มไปด้วยความครึกครื้นรื่นเริง สุดแสนประทับใจ
          – วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนกุมภาพันธ์

          – สถานที่จัดงาน : สนามบินจังหวัดสตูล

ประเพณีแข่งขันตีโพน จังหวัดพัทลุง

ประเพณีแข่งขันตีโพน  จังหวัดพัทลุง



          “หลังประดิดประดอยโพนพร้อมสำหรับการประชันแล้ว  เสียงโพนจึงดังกึกก้อง  สร้างความครึกครื้น  รื่นเริง  ในงานประเพณีแข่งขันตีโพน  เครื่องดนตรีพื้นบ้านซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเมืองลุง  ด้วยเสียงอันทุ้มแหลมกังวาน  เกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า  จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน  ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง
โพน  ชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต  ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  พัฒนาสู่ประเพณีการแข่งขันตีโพยด้วยในวันงานลากพระ  วัดในละแวกเดียวกันต่างจัดงานกันยิ่งใหญ่  เสียงโพนจึงดังกึกก้องจนไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงนั้นดังมาจากวัดไหน  นำสู่การแข่งขันประชันเสียงโพน  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
ประเพณีแข่งขันตีโพนจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบจนถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด  จัดควบคู่ไปกับประเพณีลากพระในวันออกพรรษา  ก่อนถึงวันแข่งขัน  เหล่านักตีโพนต่างขะมักเขม้นกับการประดิษฐ์เพื่อให้ได้โพนที่เสียงดีที่สุด  เลือกเอาไม้เนื้อแข็ง  ตาลโตนด  จำปาป่า  ขนุนป่า  แกะเป็นรูกลมกลวงคล้ายอกไก่  ใช้หนังควายแก่ซึ้งเป็นที่นิยมด้วยความเหนียวทนทานเป็นหนังหุ้ม  โพนของพัทลุงจึงมีชื่อเสียงโด่งดัง  ด้วยความพิถีพิถันในการประดิษฐ์

ตีโพนแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองลักษณะคือ  การแข่งขันมือ (ตีทน)  ใครตีทน  ตีนานกว่าเป็นผู้ชนะ  อีกประเภทคือการแข่งขัน จันเสียง”  ซึ่งจะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  บรรยากาศวันงานแข่งโพนในจังหวัดพัทลุงจะเต็มไปด้วยความครึกครื้น  สนุกสนาน  เหล่านักตีโพนต่างแสดงพละกำลัง  ลูกเล่น  ไหวพริบต่างๆ  ส่งเสียงทุ้มแหลมของโพนดังกังวานทั่วบริเวณ  และแม้จะเป็นการแข่งขันแต่ผู้ลงชิงชัยต่างมีแต่รอยยิ้ม  ความสุขจากการได้ร่วมงานประเพณีที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง  สะท้อนภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง  เกิดความรัก  ความสามัคคี  ด้วยวิถีอันเรียบง่ายที่คงเสน่ห์ยาวนาน
ถึงวันออกพรรษา  ทำบุญตักบาตรเสร็จแล้วอย่าลืมแวะมาฟังเสียงโพนเมืองลุง  จะแลแข่งโพนให้หรอยและหนุกต้องแข่งโพนเมืองลุง”  โพนดี  โพนดัง  ต้องโพนเมืองลุง
          -   วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือน ๑๐  จนถึง  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม  นิยมแข่งขันกันในช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป
          -   สถานที่จัดงาน : บริเวณเทศบาลเมืองพัทลุง

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง จังหวัดนราธิวาส


ประเพณีไทยภาคใต้
ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จังหวัดนราธิวาส



          “สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง
ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน  ตำบล  เรือกอและหลากสีสันลอยลำเป็นระนาบเดียวกันบนผืนน้ำ  แล้วจึงกระโจนออกไปด้วยแรงสามัคคีจากเหล่าฝีพาย  มุ่งตรงไปยังหลักชัยด้วยจังหวะอันพร้อมเพรียง  ผืนน้ำกระเซ็นเป็นละออง  เพียงแค่อึดใจเดียวผู้เร็วกว่าจึงได้คว้าเอาธงซึ่งถือเป็นหลักชัยมาครอง  และนับเป็นชัยชนะในเที่ยวนั้น
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสี่รอบ  เหล่าฝีพายแต่ละลำเรือไม่เกินยี่สิบสามคน  รวมทั้งนายท้าย  มีฝีพายสำรองไม่เกินลำละห้าคน  การเข้าเส้นชัยจะนับส่วนหัวเรือสุดของเรือที่เข้าเส้นชัยก่อนลำอื่นเป็นผู้ชนะในรอบนั้น  ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขัน  เสียงเชียร์จะดังกึกก้องท้องน้ำ  เรือกอและยังคงเอกลักษณ์ด้วยสีสัน  เลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาช้านาน  ในวันนี้ได้สร้างความรื่นเริง  สนุกสนาน  ลดความเหนื่อยล้าจากการงาน  สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าชม
          -  วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือนกันยายนของทุกปี

          -  สถานที่จัดงาน : บริเวณหน้าพลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติ  ครบรอบ ๕๐ ปี  อำเภอเมือง  นราธิวาส

ประเพณีรับบัว

ประเพณีรับบัว



         ประเพณีประเพณีรับบัวเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นทุกวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
มูลเหตุของการเกิดประเพณีรับบัวก็เนื่องมาจากว่า แต่เดิมในอำเภอบางพลีจะมีประชากรอาศัยอยู่ ๓ กลุ่มคือ คนไทย คนรามัญ และคนลาว ต่อมาคนไทยทั้ง ๓ กลุ่ม ได้ตกลงกันว่าจะช่วยกันถากถางพงหญ้าให้เป็นพื้นที่ทำไร่ทำนา จนกระทั่งคนไทยทั้ง ๓ กลุ่มได้ถางหญ้ามาถึง ๓ แยก ทุกคนตกลงกันว่าจะแยกไปคนละทาง โดยคนลาวไปทางคลองสลุด คนไทยไปทางคลองชวดลากหญ้า คนรามัญไปทางคลองลาดกระบัง
๒-๓ ปีต่อมา กลุ่มรามัญที่ย้ายไปอยู่ทางคลองลาดกระบังโดยหนูและนกทำลายพืชผลทางการเกษตรจึงต้องย้ายกลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิมคือที่ปากลัด (พระประแดง) โดยเริมออกเดินทางในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ก่อนออกเดินทางพวกรามัญได้เก็บดอกบัวเพื่อนำไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียพวกคนไทยบางคนที่ยังคงอาศัยอยู่ ณ คลองลาดกระบัง ว่าในปีต่อไปถ้าถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ให้ช่วยเก็บดอกบัวและรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตแล้วพวกตนจะมารับ
ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คนไทยก็ได้เก็บดอกบัวและไปรวมไว้ที่วัดบางพลีใหญ่หรือวัดหลวงพ่อโตตามคำร้องขอของชาวรามัญ การมาของชาวรามัญจะมาโดยเรือถึงประมาณตี ๓-๔ และทุกครั้งที่มาจะมีการร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานส่วนผู้ที่มาคอยรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วย
พิธีกรรมของประเพณีรับบัวจะเริ่มต้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยในตอนเย็นชาวพระประแดงและเพื่อนบ้านใกล้เคียง จะลงเรือและร่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง ตามคลองสำโรงบ้าง แต่ทุกคนจะมีจุดหมายเดียวกันคือไปที่หมู่บ้านบางพลี โดยในเรือที่ร่องกันมานั่นจะมีเครื่องดนตรีนานาชนิด เช่น ปี่ ซอ แง แบ กรับ และกลอง เป็นต้น และทุกคนจะร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ส่วนชาวบางพลีก็จะเตรียมดอกบัวและอาหารไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

พอเช้าตรูของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจากต่างถิ่น เช่น ชาวพระประแดง และเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะพายเรือเพื่อรับบัวจากชาวบางพลี แต่ก่อนที่ชาวบางพลีจะส่งบัวให้นั้น จะยกมือพนมและอธิษฐาน ส่วนผู้รับก็จะพนมมือและรับบัวอย่างสุภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า การรับบัวประเพณีไทยรับบัว