วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีชักพระ

ประเพณีชักพระ


          “ด้วยจิตอันศรัทธายิ่งต่องานประเพณี เมื่อถึงวันชักพระ ชาวบ้านต่างร่วมกันทำบุญตักบาตร อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกบนเรือพระ รถพระ ซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม จากนั้นจึงออกแรงชักพระ เรือพระ ออกจากวัด สมโภชไปตามถนน ลำคลอง ผู้คนหนาตาด้วยจิตศรัทธาเป็นหนึ่งเดียวกัน
ตระเตรียม สลักเสลา ประดับประดิษฐ์ รถ เรือพนมพระ งดงามเมลืองมลัง ด้วยมวลหมู่ดอกไม้ ด้วยจิต ด้วยศรัทธา สมความยิ่งใหญ่ในประเพณีอันนับถือสู่สิริมงคล นับร้อย นับพัน ร่วมแรง ร่วมใจ แข็งขัน สามัคคี คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ ออกเรี่ยว ออกแรง เฮโล เฮลา ถึงวันเรามาชักพระร่วมกัน
นับนานแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดากลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จ เกิดเป็นประเพณีตักบาตรเทโว แถบถิ่นปักษ์ใต้ยังมีประเพณีชักพระควบคู่ด้วยกัน ปฏิบัติสืบมาช้านาน สุราษฏร์ธานีแต่ละปีจัดงานชักพระยิ่งใหญ่ ถึงแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดออกพรรษาแล้ว ผู้คนเนืองแน่น คนจากไปอยู่ถิ่นไกลกลับบ้านร่วมงานบุญถิ่นฐานบ้านเกิด ด้วยปลูกวิถีแห่งประเพณีประดับจิตไว้แต่เล็กแต่อ่อน ช่วยกันตกแต่งทำรถ เรือพนมพระ งดงาม อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก บนเรือพระ รถพระ เตรียมอาหารคาวหวาน ขนมต้ม ทำบุญตักบาตร แล้วชักรถ เรือพระออกจากวัด สมโภชตามถนน ลำคลอง เสียงโพนนำขบวน ครึกครื้น สนุกสนาน รื่นเริง วัดนับร้อยเข้าร่วมพิธี วันเดียวจึงเปรียบทำบุญได้ร้อยวัด


หลายบ้าน หลายเรือน จัดพุ่มผ้าป่า จัดไฟประดับสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธชาดก เรื่องของนรก สวรรค์ พานพุ่มเตรียมผ้าผืนน้อยไว้สำหรับพระภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล ปิ่นโตหนึ่งเถา บรรจุอาหารปรุงรสด้วยจิตเต็มเปี่ยมแห่งศรัทธา เรียกพุ่มผ้าป่านี้ว่า ผ้าป่าข้าวสุก
นอกนั้นผละจากพิธีรีตองตามขนบธรรมเนียมถือปฏิบัติ ยังมีงานรื่นเริงแข่งขันเรือยาวแห่งลุ่มน้ำตาปี ในฤดูน้ำปริ่มตลิ่ง ต่างคน ต่างเชียร์ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง เป็นเช่นนี้ในทุกๆ ปี เป็นที่น่ายินดีที่ท้องถิ่นจะอนุรักษ์ปฏิบัติสืบต่อไป
        – วันเวลาการจัดงาน : เทศกาลออกพรรษาของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

        – สถานที่จัดงาน : บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี สะพานนริศ ต.ตลาด อ.เมือง, สนามข้างโรงแรมวังใต้ อ.เมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น