วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อ้างอิง

อ้างอิง
www.xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com                       สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.prapayneethai.com                                                สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.personal.swu.ac.th                                                 สืบค้นเมื่อวันที่   18  มิถุนายน พ.ศ.2556
www.blog.eduzones.com                                               สืบค้นเมื่อวันที่    18  มิถุนายน พ.ศ.2556

ประเพณีชักพระ

ประเพณีชักพระ


          “ด้วยจิตอันศรัทธายิ่งต่องานประเพณี เมื่อถึงวันชักพระ ชาวบ้านต่างร่วมกันทำบุญตักบาตร อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกบนเรือพระ รถพระ ซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม จากนั้นจึงออกแรงชักพระ เรือพระ ออกจากวัด สมโภชไปตามถนน ลำคลอง ผู้คนหนาตาด้วยจิตศรัทธาเป็นหนึ่งเดียวกัน
ตระเตรียม สลักเสลา ประดับประดิษฐ์ รถ เรือพนมพระ งดงามเมลืองมลัง ด้วยมวลหมู่ดอกไม้ ด้วยจิต ด้วยศรัทธา สมความยิ่งใหญ่ในประเพณีอันนับถือสู่สิริมงคล นับร้อย นับพัน ร่วมแรง ร่วมใจ แข็งขัน สามัคคี คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ ออกเรี่ยว ออกแรง เฮโล เฮลา ถึงวันเรามาชักพระร่วมกัน
นับนานแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดากลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จ เกิดเป็นประเพณีตักบาตรเทโว แถบถิ่นปักษ์ใต้ยังมีประเพณีชักพระควบคู่ด้วยกัน ปฏิบัติสืบมาช้านาน สุราษฏร์ธานีแต่ละปีจัดงานชักพระยิ่งใหญ่ ถึงแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดออกพรรษาแล้ว ผู้คนเนืองแน่น คนจากไปอยู่ถิ่นไกลกลับบ้านร่วมงานบุญถิ่นฐานบ้านเกิด ด้วยปลูกวิถีแห่งประเพณีประดับจิตไว้แต่เล็กแต่อ่อน ช่วยกันตกแต่งทำรถ เรือพนมพระ งดงาม อันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก บนเรือพระ รถพระ เตรียมอาหารคาวหวาน ขนมต้ม ทำบุญตักบาตร แล้วชักรถ เรือพระออกจากวัด สมโภชตามถนน ลำคลอง เสียงโพนนำขบวน ครึกครื้น สนุกสนาน รื่นเริง วัดนับร้อยเข้าร่วมพิธี วันเดียวจึงเปรียบทำบุญได้ร้อยวัด


หลายบ้าน หลายเรือน จัดพุ่มผ้าป่า จัดไฟประดับสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธชาดก เรื่องของนรก สวรรค์ พานพุ่มเตรียมผ้าผืนน้อยไว้สำหรับพระภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล ปิ่นโตหนึ่งเถา บรรจุอาหารปรุงรสด้วยจิตเต็มเปี่ยมแห่งศรัทธา เรียกพุ่มผ้าป่านี้ว่า ผ้าป่าข้าวสุก
นอกนั้นผละจากพิธีรีตองตามขนบธรรมเนียมถือปฏิบัติ ยังมีงานรื่นเริงแข่งขันเรือยาวแห่งลุ่มน้ำตาปี ในฤดูน้ำปริ่มตลิ่ง ต่างคน ต่างเชียร์ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง เป็นเช่นนี้ในทุกๆ ปี เป็นที่น่ายินดีที่ท้องถิ่นจะอนุรักษ์ปฏิบัติสืบต่อไป
        – วันเวลาการจัดงาน : เทศกาลออกพรรษาของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

        – สถานที่จัดงาน : บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี สะพานนริศ ต.ตลาด อ.เมือง, สนามข้างโรงแรมวังใต้ อ.เมือง

ประเพณีทอดกฐิน

ประเพณีทอดกฐิน



          ประเพณีทอดกฐินจะทำในช่วงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน เกี๋ยงเหนือหรือเดือนตุลาคม ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่เหนือ หรือเดือนพฤศจิกายน สมัยโบราณชาวล้านนาไม่นิยมทอดกฐินเนื่องจากว่าจะต้องใช้ปัจจัย (เงิน) ค่อนข้างมาก ผู้ที่จะถวายกฐินได้จะต้องมีฐานะดีและมีความตั้งใจจริง

เมื่อผู้ใดมีความประสงค์จะถวายกฐิน จะต้องจองกฐินที่วัด และบอกแก่ชาวบ้านให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อถึงวันทอดกฐินก็จะมีการแห่กฐินมาทอดที่วัด และในบางวัดจะมีมหรสพในตอนกลางคืนด้วย

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล


          “ฤดูแห่งลมว่าวพัดมาถึงอีกครั้ง ท้องฟ้าจึงถูกประดับประดาด้วยว่าวนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือว่าวควาย ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสู่เอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของว่าวเมืองสตูล ประชันความงามล่องเวหาไปพร้อมๆ กันกับว่าวนานาชาติ เพียงเงยหน้ามองท้องฟ้าจนสุดสายป่าน คุณก็ไม่อาจละสายตา และเพลิดเพลินไปกับงานแข่งขันว่าวประเพณี ณ จังหวัดสตูล
ต้นข้าวขณะออกรวงเรียว ผ่านพ้นช่วงฝนตกหนักสู้ฤดูหนาวต้นปี รวงข้างเอนกระทบกันเสียงกระซิบของท้องทุ่ง ตามด้วยสายลมที่พัดผ่านมาเป็นสัญญาณเปลี่ยนฤดูกาล ขณะรอเก็บเกี่ยวผลผลิต เหล่านักประดิษฐ์ต่างนำว่าวตัวเก่งมาล่องลม ในช่วงเวลาดังกล่าวของทุกปีท้องฟ้าเมืองสตูลจึงเต็มไปด้วยว่าวหลากชนิดที่บรรดาเด็กๆ คนหนุ่มสาว ต่างออกลีลาวาดลวดลายประชันฝีมือในการบังคับว่าวอย่างรื่นเริง
การเรียนรู้อยู่ร่วมกันตามวิถีของธรรมชาติ ทำให้การนำว่าวมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความบันเทิงพัฒนารูปแบบเรื่อยมา ทั้งในประเทศไทยรวมทั้งว่าวจากนานาชาติ จนเริ่มมีการแข่งขัน คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างภูมิประเทศ จึงมีโอกาสพบเห็นว่าวรูปทรงแปลกและแตกต่างกัน นั่นรวมถึงว่าวควายที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของสตูล

ลักษณะของว่าวควาย ช่วงล่างเป็นรูปทรงเขาโง้ง ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร นิยมใช้สีขาวเป็นตัวว่าว อาจแต่งแต้มสีบ้างเล็กน้อย มีแอกรับลมเกิดเป็นเสียงขณะล่องลม ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกที่แปลกตา ประกอบกับเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อติดลมบน ได้กลายเป็นมนต์เสน่ห์ ที่สามารถนำกฎทางธรรมชาติมาผสานกับแนวคิดของคน และกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่ไม่ว่าใครก็ต่างสนใจ
ประเพณีการแข่งขันว่าว แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ใครบังคับได้ขึ้นสูงก็รับรางวัลประเภทขึ้นสูง ใครเสียงดังกังวานก็ต้องมอบรางวัลชนะเลิศประเภทเสียงกังวาน แต่หากมีพรสวรรค์ด้านศิลปะก็ตกแต่งว่าวมาอย่างครบเครื่องในประเภทสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากมีการจัดแข่งขันว่าวในประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการแข่งขันการประดิษฐ์ว่าว ประกวดธิดาว่าว จัดแสดงโชว์ว่าวสตันไทย และว่าวต่างประเทศ มีซุ้มนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของว่าว พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของสตูล การแสดงดนตรีสด ร่วมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นำสินค้าต่างๆ มาออกร้านมากมาย จนทำให้บรรยากาศภายในงานจึงเต็มไปด้วยความครึกครื้นรื่นเริง สุดแสนประทับใจ
          – วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนกุมภาพันธ์

          – สถานที่จัดงาน : สนามบินจังหวัดสตูล

ประเพณีแข่งขันตีโพน จังหวัดพัทลุง

ประเพณีแข่งขันตีโพน  จังหวัดพัทลุง



          “หลังประดิดประดอยโพนพร้อมสำหรับการประชันแล้ว  เสียงโพนจึงดังกึกก้อง  สร้างความครึกครื้น  รื่นเริง  ในงานประเพณีแข่งขันตีโพน  เครื่องดนตรีพื้นบ้านซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเมืองลุง  ด้วยเสียงอันทุ้มแหลมกังวาน  เกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า  จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน  ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง
โพน  ชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต  ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  พัฒนาสู่ประเพณีการแข่งขันตีโพยด้วยในวันงานลากพระ  วัดในละแวกเดียวกันต่างจัดงานกันยิ่งใหญ่  เสียงโพนจึงดังกึกก้องจนไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงนั้นดังมาจากวัดไหน  นำสู่การแข่งขันประชันเสียงโพน  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
ประเพณีแข่งขันตีโพนจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบจนถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด  จัดควบคู่ไปกับประเพณีลากพระในวันออกพรรษา  ก่อนถึงวันแข่งขัน  เหล่านักตีโพนต่างขะมักเขม้นกับการประดิษฐ์เพื่อให้ได้โพนที่เสียงดีที่สุด  เลือกเอาไม้เนื้อแข็ง  ตาลโตนด  จำปาป่า  ขนุนป่า  แกะเป็นรูกลมกลวงคล้ายอกไก่  ใช้หนังควายแก่ซึ้งเป็นที่นิยมด้วยความเหนียวทนทานเป็นหนังหุ้ม  โพนของพัทลุงจึงมีชื่อเสียงโด่งดัง  ด้วยความพิถีพิถันในการประดิษฐ์

ตีโพนแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองลักษณะคือ  การแข่งขันมือ (ตีทน)  ใครตีทน  ตีนานกว่าเป็นผู้ชนะ  อีกประเภทคือการแข่งขัน จันเสียง”  ซึ่งจะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  บรรยากาศวันงานแข่งโพนในจังหวัดพัทลุงจะเต็มไปด้วยความครึกครื้น  สนุกสนาน  เหล่านักตีโพนต่างแสดงพละกำลัง  ลูกเล่น  ไหวพริบต่างๆ  ส่งเสียงทุ้มแหลมของโพนดังกังวานทั่วบริเวณ  และแม้จะเป็นการแข่งขันแต่ผู้ลงชิงชัยต่างมีแต่รอยยิ้ม  ความสุขจากการได้ร่วมงานประเพณีที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง  สะท้อนภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง  เกิดความรัก  ความสามัคคี  ด้วยวิถีอันเรียบง่ายที่คงเสน่ห์ยาวนาน
ถึงวันออกพรรษา  ทำบุญตักบาตรเสร็จแล้วอย่าลืมแวะมาฟังเสียงโพนเมืองลุง  จะแลแข่งโพนให้หรอยและหนุกต้องแข่งโพนเมืองลุง”  โพนดี  โพนดัง  ต้องโพนเมืองลุง
          -   วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือน ๑๐  จนถึง  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม  นิยมแข่งขันกันในช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป
          -   สถานที่จัดงาน : บริเวณเทศบาลเมืองพัทลุง

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง จังหวัดนราธิวาส


ประเพณีไทยภาคใต้
ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จังหวัดนราธิวาส



          “สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง
ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน  ตำบล  เรือกอและหลากสีสันลอยลำเป็นระนาบเดียวกันบนผืนน้ำ  แล้วจึงกระโจนออกไปด้วยแรงสามัคคีจากเหล่าฝีพาย  มุ่งตรงไปยังหลักชัยด้วยจังหวะอันพร้อมเพรียง  ผืนน้ำกระเซ็นเป็นละออง  เพียงแค่อึดใจเดียวผู้เร็วกว่าจึงได้คว้าเอาธงซึ่งถือเป็นหลักชัยมาครอง  และนับเป็นชัยชนะในเที่ยวนั้น
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสี่รอบ  เหล่าฝีพายแต่ละลำเรือไม่เกินยี่สิบสามคน  รวมทั้งนายท้าย  มีฝีพายสำรองไม่เกินลำละห้าคน  การเข้าเส้นชัยจะนับส่วนหัวเรือสุดของเรือที่เข้าเส้นชัยก่อนลำอื่นเป็นผู้ชนะในรอบนั้น  ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขัน  เสียงเชียร์จะดังกึกก้องท้องน้ำ  เรือกอและยังคงเอกลักษณ์ด้วยสีสัน  เลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาช้านาน  ในวันนี้ได้สร้างความรื่นเริง  สนุกสนาน  ลดความเหนื่อยล้าจากการงาน  สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าชม
          -  วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือนกันยายนของทุกปี

          -  สถานที่จัดงาน : บริเวณหน้าพลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติ  ครบรอบ ๕๐ ปี  อำเภอเมือง  นราธิวาส

ประเพณีรับบัว

ประเพณีรับบัว



         ประเพณีประเพณีรับบัวเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นทุกวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
มูลเหตุของการเกิดประเพณีรับบัวก็เนื่องมาจากว่า แต่เดิมในอำเภอบางพลีจะมีประชากรอาศัยอยู่ ๓ กลุ่มคือ คนไทย คนรามัญ และคนลาว ต่อมาคนไทยทั้ง ๓ กลุ่ม ได้ตกลงกันว่าจะช่วยกันถากถางพงหญ้าให้เป็นพื้นที่ทำไร่ทำนา จนกระทั่งคนไทยทั้ง ๓ กลุ่มได้ถางหญ้ามาถึง ๓ แยก ทุกคนตกลงกันว่าจะแยกไปคนละทาง โดยคนลาวไปทางคลองสลุด คนไทยไปทางคลองชวดลากหญ้า คนรามัญไปทางคลองลาดกระบัง
๒-๓ ปีต่อมา กลุ่มรามัญที่ย้ายไปอยู่ทางคลองลาดกระบังโดยหนูและนกทำลายพืชผลทางการเกษตรจึงต้องย้ายกลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิมคือที่ปากลัด (พระประแดง) โดยเริมออกเดินทางในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ก่อนออกเดินทางพวกรามัญได้เก็บดอกบัวเพื่อนำไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียพวกคนไทยบางคนที่ยังคงอาศัยอยู่ ณ คลองลาดกระบัง ว่าในปีต่อไปถ้าถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ให้ช่วยเก็บดอกบัวและรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตแล้วพวกตนจะมารับ
ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คนไทยก็ได้เก็บดอกบัวและไปรวมไว้ที่วัดบางพลีใหญ่หรือวัดหลวงพ่อโตตามคำร้องขอของชาวรามัญ การมาของชาวรามัญจะมาโดยเรือถึงประมาณตี ๓-๔ และทุกครั้งที่มาจะมีการร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานส่วนผู้ที่มาคอยรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วย
พิธีกรรมของประเพณีรับบัวจะเริ่มต้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยในตอนเย็นชาวพระประแดงและเพื่อนบ้านใกล้เคียง จะลงเรือและร่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง ตามคลองสำโรงบ้าง แต่ทุกคนจะมีจุดหมายเดียวกันคือไปที่หมู่บ้านบางพลี โดยในเรือที่ร่องกันมานั่นจะมีเครื่องดนตรีนานาชนิด เช่น ปี่ ซอ แง แบ กรับ และกลอง เป็นต้น และทุกคนจะร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ส่วนชาวบางพลีก็จะเตรียมดอกบัวและอาหารไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

พอเช้าตรูของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจากต่างถิ่น เช่น ชาวพระประแดง และเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะพายเรือเพื่อรับบัวจากชาวบางพลี แต่ก่อนที่ชาวบางพลีจะส่งบัวให้นั้น จะยกมือพนมและอธิษฐาน ส่วนผู้รับก็จะพนมมือและรับบัวอย่างสุภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า การรับบัวประเพณีไทยรับบัว

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์



         “ภูเขาตั้งตระหง่านกลางเมือง แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นเจ้าพระยาสายใหญ่พาดผ่าน ชุมชนภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ตั้งรกราก ลงหลักพักอาศัย พร้อมนำวิถี วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติ ชวนให้เข้าไปสู่ห้วงมนต์เสน่ห์สีสันแห่งงาน ตรุษจีนปากน้ำโพ
แหล่งชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่สานต่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงเคารพนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่สวรรค์ โดยตั้งศาลขึ้น ๒ ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ
จากอดีตนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ตลาดปากน้ำโพได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตาย ชาวจีนปากน้ำโพได้นำเอา กระดาษฮู้” (กระดาษยันต์) ของศาลเจ้ามาเผา ได้เป็นเถ้าจึงนำมาผสมน้ำดื่มจนหายจากโรคร้าย และเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธ์ ตั้งแต่นั้นมา ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการแห่องค์เจ้าพ่อ เจ้าแม่ไปรอบเมือง พร้อมด้วยขบวนการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ สิงโต เอ็งกอ ล่อโก้ว มังกรทอง องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง บอกเล่าตำนานความเชื่อของชาวปากน้ำโพอย่างยิ่งใหญ่
ชาวนครสวรรค์ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ เด็กๆ ต่างเข้าร่วมสมาคม ชมรมการแสดง ฝึกซ้อมท่วงท่าร่ายรำให้พร้อมเพรียงสำหรับการแสดง ตลอดสองฝั่งถนนในตัวเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีนต่างตั้งเครื่องเซ่นไหว้ บูชาบรรพบุรุษ คณะเอ็งกอกระชับไม้กระบองสองข้างไว้แน่น ทุกก้าว ทุกจังหวะดูเข้มแข็ง เด็กหญิงตัวเล็กมือถือถ้วยและตะเกียบไว้ในมือน้อยๆ เสียงกระทบถ้วยช้าๆ สอดรับดนตรีเพลงจีนเบาๆ เหล่าสิงโต เสือ เคลื่อนไหว เล่นสนุก ปีนป่ายบนเสาดอกเหมยด้วยความสง่างาม

เสียงประทัดจีนดังก้องกังวานเมื่อมังกรทองวาดลวดลายพลิ้วไหวดั่งล่องลอย จากความร่วมแรงของคนนับร้อยที่ต้องผลัดเปลี่ยนเวียนตำแหน่ง เพื่อให้มังกรทองโบยบินราวมีชีวิต ไปจนถึงยามเย็นแสงสีสันของโคมไฟที่ประดับอยู่ทั่วเมือง คณะงิ้วสื่อสำเนียงออกลีลาชวนติดตามเรื่องราว ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณหาดทรายริมต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
     – วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

     – สถานที่จัดงาน : ขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพธิ์และหาดทรายริมแม่น้ำเจ้าพระย

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จังหวัดสระบุรี

ประเพณีตักบาตรดอกไม้  จังหวัดสระบุรี



          “น้อมนมัสการรอยพระพุทธบาท  ร่วมทำบุญตักบาตรตามวิถีปฏิบัติ  ในงานประเพณีตักบาตรดอกไม้  เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา  ตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่ายพระสงหลายร้อยรูป  บิณฑบาตเหล่าดอกเข้าพรรษาสีเหลือง  ขาว  และน้ำเงินม่วง  ซึ่งจะเบ่งบานในช่วงวันเข้าพรรษา  ที่พุทธศาสนิกชนหลายหมื่นแสนต่างพร้อมใจนำมาถวายด้วยศรัทธาอันแรงกล้า  เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
ดอกเข้าพรรษากำลังเบ่งบานอยู่รายรอบภูเขา  บริเวณใกล้กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร  นับเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าใกล้ถึงช่วงวันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ แล้ว  ซึ่งนับว่าเป็นวาระมงคลที่พุทธศาสนิกชน  จะมาพร้อมกันเพื่อถวายดอกเข้าพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำไปสักการะแด่พระเจดีย์จุฬามณี  ตามความเชื่อดั้งเดิม

ที่มาของการตักบาตรดอกไม้  ผูกโยงกับพุทธตำนานว่า  ครั้งพุทธกาลพระเจ้าพิมพิสาร  จะรับสั่งให้นายมาลากรนำดอกมะลิเข้าถวายวันละ ๘ กำมือ  อยู่มาวันหนึ่ง  พระพุทธเจ้าได้ทรงออกบิณฑบาตพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง  นายมาลากรได้เห็นพรรณรังสีฉายประกายรอบพระวรกาย  จึงเกิดความเลื่อมใสและนำดอกมะลิถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งหมด  พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกชิ้นที่พระเจ้าพิมพิสารมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น  แต่การนำดอกไม้บูชาแด่พุทธองค์  สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า  หากถูกประหารเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยินยอม”  แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่องก็ทรงเห็นด้วย  ปูนบำเหน็จแก่นายมาลากร  และนายมาลากรก็อยู่อย่างมีความสุขตลอดมา
จากความเชื่อกลายเป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอพระพุทธบาท  ที่ต่างเก็บดอกเข้าพรรษา  ทั้งสีขาว  เหลือง  และม่วง  มาใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว  และสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  สุดท้ายนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดเข้าพรรษา  ซึ่งหลังจากเสร็จพิธี  พระสงฆ์จะเดินกลับลงมา  โดยพุทธศาสนิกชนต่างพร้อมชำระล้างเท้าของพระสงฆ์ด้วยน้ำสะอาดเพื่อเป็นการชำระล้างบาปของตนเองด้วย
ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยภาพความงดงามของทุกท่วงท่า  รายละเอียดของทุกแง่มุมที่ล้วนมีความหมาย  และไม่ยากที่สักครั้งคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้ามาสัมผัส  และร่วมดำเนินพิธีกรรม  เข้าถึงงานประเพณี  ร่วมถ่ายทอดเอกลักษณ์เหล่านี้ให้คงอยู่  บอกกล่าวเล่าต่อว่า  การสร้างบุญกุศลที่แรงกล้านั้นเกิดจากศรัทธา  และความดีที่เกิดจากตัวคุณเอง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี

          –  สถานที่จัดงาน :  วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม



          “แสงนวลจากจันทร์วันเพ็ญส่องสว่างค่ำคืนให้รื่นเริงไปพร้อมกับเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ประจำปี  ผู้คนจากทั่วสารทิศร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเคารพศรัทธา  เสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  แล้วร่วมแรงร่วมใจแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  อิ่มบุญแล้วยังได้สนุกครึกครื้นไปกับบรรยากาศงานวัด  กิจกรรม  การประกวด  และการละเล่น  จึงมากมายรอยยิ้ม  ความสุขเช่นทุกๆ ปี
เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  พิธีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานนับร้อยปีของชาวนครปฐม  เมื่อวันเวลาผ่านมาถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี  องค์พระปฐมเจดีย์มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ  ดั่งได้เฝ้าอยู่เบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  ท่ามกลางแสงนวลจากจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญ  ยามต้ององค์พระปฐมเจดีย์ปูชนียสถานซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานคู่แผ่นดินสุวรรณภูมิ  นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  นับอายุกว่าพันปีที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  ภายใต้พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ  ปากผายมหึมา  โครงสร้างเป็นไม้ซุง  รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา  ก่ออิฐ  ถือปูน  ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ  ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ  กำแพงแก้ว ๒ ชั้น  งดงามเคียงคู่กาลเวลา
และอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ  แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  โดยเชื่อกันมาแต่โบราณว่า  ถ้าถวายสิ่งของเครื่องใช้แด่พระภิกษุสงฆ์จะได้บุญกุศล  เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาพระรัตนตรัย  โดยเฉพาะการถวายผ้ากาสาวพัสตร์จะได้บุญกุศลมาก  ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว  จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์  ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี  ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๑ รอบ  แล้วมาพักไว้บริเวณด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์  ให้พุทธศาสนิกชนเขียนคำอุทิศส่วนกุศลลงบนผืนผ้า  ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง  และวันสุดท้ายของการจัดงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  จึงนำผ้าไปเวียนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ด้านใน  ตามแบบทักษิณาวัตรอีก ๓ รอบ  แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระเจดีย์เป็นอันเสร็จพิธี
เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  สะท้อนความศรัทธาสามัคคี  สืบสานประเพณี  ทำนุบำรุงพุทธศาสนา  ผู้เฒ่าผู้แก่  หนุ่มสาว  ลูกหลาน  ส่งต่อพิธีปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตต่อไป
          –  ระยะเวลาจัดงาน : วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒  ถึง  วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒  รวม ๙ วัน ๙ คืน

          –  สถานที่จัดงาน : วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหา

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ จังหวัดอุทัยธานี


ประเพณีไทยภาคกลาง
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ  จังหวัดอุทัยธานี


เทโวโรหณะ  วิถีแห่งศรัทธาต่อศรัทธา
          “ขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ถึงกำหนดเวียนมาบรรจบ ณ วัดสังกัตรัตนคีรี  ประเพณีตักบาตรเทโว  พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินลงจากยอดเขา  ผ่านบันได ๔๔๙ ขั้นสู่เบื้องล่าง  ที่ยังเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนเรือนหมื่น  ที่ยังคงยึดมั่นในวิถีปฏิบัติดั้งเดิม  อันสะท้อนภาพแรงศรัทธาที่สุกสว่าง  ภายในจิตใจของทุกคน
อุทัยธานี  ชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง  เมืองเล็กๆ ที่อบอุ่น  และมากด้วยไมตรีจิต  ที่พร้อมมอบให้แก่คนต่างถิ่น  และรอให้เข้ามาสัมผัส  วัฒนธรรม  ประเพณีไทยที่ยังคงเอกลักษณ์  และห่างไกลสิ่งเจือปนจากภายนอก  บางคนมักจะละเลยผ่านไป  แต่ลองหยุดแวะพัก  ค่อยๆ ปล่อยชีวิตให้เดินช้าลง  คุณจะหลงรักเมืองแห่งนี้ได้ไม่ยาก
ณ บริเวณศูนย์กลางของเมือง  ยอดเขาสะแกกรังยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ที่มีความเชื่อมาแต่โบราณกาลว่าเป็นที่ตั้งของซากโบราณสถาน  ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐  พระปลัดใจ  เจ้าอาวาสวัดทุ่งแก้ว  และชาวอุทัยธานีได้ลงแรงช่วยกันสร้างมณฑปสิริมหามายากุฎาคาร  พร้อมก่อสร้างวัดสังกัตรัตนคีรีมงคลประไพอุทัยเขตร์ขึ้น  จนกลายเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน  ชาวอุทัยธานีและชาวไทยเรื่อยมา
จากนั้นในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี  ช่วงค่ำก่อนวันออกพรรษา  ภาพการแสดง  แสง  สี  เสียง  จำลองเรื่องราวพุทธประวัติครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์  เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน  หรือเรียกว่า วันมหาปวารณา
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ  พระสงฆ์หลายร้อยรูปพร้อมเพรียงเดินลงจากยอดเขาสะแกกรัง 449 ชั้น เป็นสายยาวท่ามกลางฉากหลังคือบันไดที่อยู่ระหว่างกลางภูเขา  ตัดกับขอบฟ้าสีคราม  ดูเสมือนหนึ่งพระสงฆ์กำลังลงมาจากยอดเขาดาวดึงส์  ผู้คนเบื้องล่างตระเตรียมข้าวสารอาหารแห้งมารอใส่บาตรพระสงฆ์  จนเป็นภาพที่จดจำ  ทั้งยังช่วยสร้างศรัทธาและสืบสานให้พระพุทธศาสนาคงอยู่สืบไป
          -   วันเวลาการจัดงาน : เทศกาลออกพรรษา  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ของทุกปี

          -   สถานที่จัดงาน : วัดสังกัตรัตนคีรี  อำเภอเมืองอุทัยธานี

งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก

งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัต)



         งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัต) คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุสลไปให้กับเปรต ซึ่งงานบุญข้าวสากกับงานบุญข้าวประดับดินในเดือน ๙ จะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและผู้ล่วงลับไปแล้ว
มูลเหตุของการเกิดงานบุญข้าวสาก สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน มารดาจึงหาผู้หญิงมาให้ชายหนุ่มจึงแต่งงานกับหญิงสาวผู้นั้น แต่อยู่กันมานานก้ไม่มีบุตรสักที มารดาจึงหาภารยาให้ใหม่ พออยู่กินมาไม่นานภารยาน้อยก็ตั้งครรภ์ ภารยาหลวงเกิดอิจฉาจึงคิดวางแผนบอกกับภรรนาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์ภรรยาน้อยต้องบอกนางเป็นคนแรก
เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์ นางจึงบอกกับภรรยาหลวง ภรรยาหลวงจึงนำยาที่ทำให้แท้งให้ภรรยาน้อยกิน พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ครั้งที่สองภรรยาหลวงก็นำยาแท้งให้กินอีกพอครั้งที่สามภรรยาน้อยไม่บอกภรรยาหลวงแต่หนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ภรรยาหลวงจึงตามไปแล้วให้ยากินอีก แต่คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่แล้ว แต่ลูกในท้องนอนขวางทำให้บีบหัวใจจนตาย ก่อนที่ภรรยาน้อยจะตายนางได้จองเวรกับภรรยาหลวงว่า ชาติหน้าของให้นางได้เกิดเป็นยักษิณีและให้ได้กินภรรยาหลวงและลูกของภรรยาหลวง
ชาติต่อมาภรรยาน้อยได้เกิดเป็นแมว ส่วนภรรยาหลวงถูกสามีฆ่าตายแล้วเกิดเป็นไก่ และอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับแมว ครั้นไก่ถูกออกไข่มาก็ถูกแมวกินถึง 3 ครั้ง ก่อนแม่ไก่ตาย แม่ไก่พูดอาฆาตแมวว่า ในชาติหน้าขอให้ได้กินแม่แมวและลูกแมว
ชาติต่อมาแม่ไก่ได้เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็ไปกินลูกนางถึง 3 ครั้ง ก่อนนางเนื้อตายได้ผูกอาฆาตกับเสือเหลืองว่า ชาติหน้าขอให้ได้กินเสือเหลืองและลูกเสือเหลือง
ชาติต่อมานางเนื้อได้เกิดเป็นยักษิณี เสือเกิดเห็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัต ถึงครั้นเจริญเติบโตก็แต่งงานกับชายหนุ่มพอมีลูกก็ถูกนางยักษิณีขโมยลูกไปกินถึง 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 3 นางกุลธิดาและสามีพร้อมลูกวิ่งหนีไปยังวัดเชตวันมหาวิหารซึ้งขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาอยู่ สองมีภรรยาจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีอยู่หน้าวัด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาและเล่าภูมิหลังของทั้งสามให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดานำนางยักษิณีไปเลี้ยง นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ท้ายทุ้งนา นางยักษิณีเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้งหรือน้ำท่วมนางก็บอกกับนางกุลธิดาทุกครั้ง ทำให้ข้าวในนาของนางกุลธิดาได้ผลดี ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวก็พร้อมใจกันไปถามเกณฑ์ขอฝนฟ้า ทำใช้ชาวนาของชาวบ้านได้ผลดี ชาวบ้านจึงนำอาหารไปให้กับยักษิณีเป็นการตอบแทน

สำหรับบุญข้าวสากในปัจจุบัน จะกระทำในวันขึ้น 15 ค้ำ เดือน 10 โดยชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานใส่บาตรพอถึงตอนเพลชาวบ้านจะจัดสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทาน นำไปถวายพระโดยเขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำหรับแล้วใส่ลงบาตร และนิมนต์ให้พระสงฆ์และสามเณรรูปใดจับสลากเป็นชื่อของใครคนนั้นก็จะนำสำรับกับข้าวไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น

งานประเพณีตีช้างน้ำนอง จังหวัดมุกดาหาร

งานประเพณีตีช้างน้ำนอง จังหวัดมุกดาหาร



          สายน้ำโขงสีขุ่นที่ไหลเรื่อย ช่วงเริ่มต้นแห่งฤดูฝน ระดับสูงขึ้นใกล้เต็มตะลิ่ง ใกล้เวลาที่ชาวบ้านสองฝั่งโขงจะมาร่วมใจ ลงแรก ช่วยลุ้น ผลัดกันส่งเสียงร้องให้กำลังใจเหล่าฝีมืพายจากที่ต่างๆ ที่มาพร้อมกันเพื่อช่วยชิงชัยจ้าวแห่งสายน้ำ ณ เมืองมุกดาหาร ซึ้งมีเอกลักษณ์ของพิธีการ ไม่เหมือนใครจนกลายเป็นประเพณีของไทยที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน คือ ประเพณีการตีช้างน้ำนอง ในการแข่งขันประเพณีออกพรรษาไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวั่นนะเขต)
เริ่มต้นเอาฤกษ์เอาชัย ขบวนเรือที่เข้าแข่งขันต่างมารวมตัวพร้อมกัน ณ ท่าน้ำ ขบวนเรือพายเรือล่องตามลำน้ำโขง ทุกฝีพายต่างโห่ร้อง ตกลอง เคาะเกราะ เกิดเป็นจังหวะที่ขึงขัง เพื่อประกอบพิธีสักการะพระแม่คงคา เทวดา พญานาค บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งทางบกและทางน้ำ
จากช่วงจังหวะที่ไม้พายจ้วงลงในพื้นน้ำ เมื่อยกขึ้น สายน้ำก็สาดกระเซ็นเกิดเป็นละออง ราวกลับโขลงใหญ่กำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และเกิดระลอกคลื่นซัดเข้ากระทบฝั่งอย่างต่อเนื่อง จนมีเสียงดังจนคล้ายเสียงช้างร้อง ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงเรียกพิธีนี้ว่า พิธีตีช้างน้ำนองเรื่อยมา

เข้าถึงช่วงการแข่งขัน เรือแห่งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานเครื่องเกียรติยศนำหน้าขบวน คลอเคล้าด้วยเสียงโห่ร้องของเหล่าฝีพายที่ดังสนั่นก้องท้องลำน้ำโขง นับเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้สายตาทุกคู่ถูกมนต์สะกดให้จับจองอยู่ที่พิธีกรรมที่เกิดจากความร่วมใจของขาวมุกดาหาร ที่ยังคงสานต่องานประเพณีไทยอันทรงคุณค่านี้สืบไป

ประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด

ประเพณีบุญผะเหวด  จังหวัดร้อยเอ็ด



          “ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
ถึงวันสุดท้าย  พิธีแห่ข้าวพันก้อน (ข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ  จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน)  และเทศน์สังกาด (เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน)  ร่วมทำบุญตักบาตร  เคล้าด้วยเสียงของการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตลอดทั้งวัน  ช่วงสายๆ ขบวนแห่ถวายต้นเงิน  หรือต้นกัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอนของพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระภิกษุภายในบึงผลาญชัย  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการจัดประกวดธงผะเหวด  การประกวดภาพวาด  ภาพถ่ายประเพณีบุญผะเหวด  การแข่งกินขนมจีน  สร้างความสนุกสนานได้ตลอดงาน
         -  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี (บุญเดือนสี่)

        -  สถานที่จัดงาน : บึงผลาญชัย  สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  อ.เมืองร้อยเอ็ด