ประเพณีสรงน้ำ พระบรมธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
“พระบรมธาตุหริภุญชัย
หนึ่งในแปดแห่งจอมเจดีย์ ปูชนียสถานสำคัญ เมื่อครบรอบปีเวียนมาถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
เดือน ๘ เหนือ วันวิสาขบูชา ชาวเหนือเรียกขานตรงกันว่า วันแปดเป็ง
พุทธศาสนิกชนใกล้ ไกล หลั่งไหลร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย
สักการบูชาพระบรมธาตุฯ สืบไป”
พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์องค์เก่าแก่องค์หนึ่งในล้านนา
ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอาทิตยราช
กษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๔๐
นับจนถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่า ๑๐๐๐ ปี ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัย
มาจากชื่อของเมืองหริภุญชัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาตได้แวะรับฉันลูกสมอที่ชาวลั๊วะนำมาถวายและทรงพยากรณ์ว่า
สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร” โดนหริภุญชัยนั้นแปลว่า เมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ
งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุมักจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๙ ค่ำ เป็นต้นไป
ซึ่งพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศจะหลั่งไหลมาร่วมงารสรงน้ำพระธาตุ
มีการเตรียมข้าวของ เรียกว่า “ตาครัว” ถือเป็นการรวมญาติพี่น้องให้ได้มาพบปะเยี่ยมเยียน โดยในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ
จะมีพิธีฝังเสาสำหรับผูกเชือกดึงหม้อน้ำสรง ชาวบ้านเรียกว่า เสาก๊างน้ำ
ในวันนี้ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า หลังจากฝังเสาก๊างน้ำแล้ว
เทวดาจะต้องสรงน้ำพระธาตุก่อนใคร เมื่อเสร็จงานเรียบร้อยแล้ว
เสาก๊างน้ำจะถอดเก็บรักษาไว้
ตอนบ่ายของวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ
ประชาชนจากทั่วสารทิศร่วมขบวนแห่นำน้ำสรงพระราชทาน
พร้อมเครื่องสักการบูชาและน้ำทิพย์ดอยขะม้อไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร
แล้วทำพิธีถวายสักการะโดยคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
จะทำพิธีสรงน้ำพระธาตุโดยสรงน้ำพระราชทานก่อน ต่อจากนั้นประชาชนจึงเข้าสรงน้ำ
เมื่อน้ำสรงเต็มหม้อประชาชนจะช่วยกันดึงเชือกให้หม้อน้ำสรงเลื่อนขึ้นไปยังองค์พระธาตุ
ซึ่งบนองค์พระธาตุ มีชายแต่งตัวชุดขาวคล้ายพราหมณ์คอยรับน้ำสรงเพื่อนำไปสรงรอบๆ
องค์พระธาตุ เรื่อยไปจนคล้อยค่ำ
– วันเวลาการจัดงาน วันขึ้น ๑๕
ค่ำ เดือน ๘ เหนือของทุกปี หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า วันแปดเป็ง ซึ่งตรงกับวันขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของภาคกลาง หรือ วันวิสาขบูชา
– สถานที่จัดงาน
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น