ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก
“ลอยกระทงสาย
ประเพณีไทยที่เกิดจากความร่วมมือ และความสามัคคีของคนในชุมชน ตระเตรียมแพผ้าป่า
และกระทงสายพร้อมสรรพ จับสลากว่าใครจะลอยก่อนหลัง เมื่อทุกขั้นตอนพร้อมเรียบร้อย
คนหนึ่งนำขี้ไต้ใส่กะลา อีกคนจุดไฟ อีกหนึ่งค่อยๆ
กะจังหวะปล่อยเป็นสายไหลเรียงไปตามกระแสน้ำ”
การหลอมรวมหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปวัฒนธรรม
ทั้ง ๓ สิ่งได้ทำให้เกิดงานประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างด้วยรูปแบบ
อันมาพร้อมรายละเอียดแห่งความงดงาม จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือ
กะลามะพร้าวที่ผ่านการขูดเนื้อไปทำเมี่ยง ของว่างที่คนจังหวัดตากมักจะรับประทานหลังอาหาร
เหลือเจ้ากะลาที่วางทิ้งไว้ก็ดูไร้ประโยชน์ ลองนำมาทำเป็นกระทง
ตรงกลางใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วนำเทียนขี้ผึ้งที่พระสงฆ์ใช้ช่วงจำพรรษา
มาหล่อใส่ในกะลา เพียงเท่านี้ก็พร้อมนำไปลอย
โดยชาวบ้านนั้นเชื่อว่าเทียนขี้ผึ้งเหล่านี้ นับเป็นของศักดิ์สิทธิ์
ช่วยเสริมสร้างสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยได้นั่นเอง
ด้วยสภาพท้องน้ำที่มีสันทรายเป็นระยะ
ทำให้กระทงที่นำมาลอยไหลไปในทิศทางเดียวกันและกลายเป็นแนวคิดในการนำกระทงมาลอยเป็นสาย
จนกระทั่งเริ่มมีการแข่งขันประกวดประชันอย่างจริงจังขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐
เมื่อถึงกำหนดเริ่มงานทุกชุมชนได้เตรียมตัวมาพร้อมเพื่อการแข่งขันขบวนแห่ที่สวยงาม
เสียงดนตรีสุดคึกคัก ชาวบ้านต่างร่ายรำมาจนกระทั่งถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง
เริ่มต้นขอขมาต่อพระแม่คงคา อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า
พร้อมปล่อยทุกข์โศกไปกับแพผ้าป่าน้ำ
- วันเวลาการจัดงาน :
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
- สถานที่จัดงาน :
แม่น้ำปิง บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น